วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

สกู๊ปแนวหน้า
กทม.ติด1ใน12ของโลกเสี่ยงจมใต้บาดาล เหตุทะเลกัดเซาะ-ดินทรุดตัวจาก"โลกร้อน"

ปัจจุบันประชากรโลกเกือบ 600 ล้านคน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเล กำลัง "เผชิญกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล" ที่กำลังเป็น"วิกฤตการณ์"ในระดับโลก จากข้อมูลของ UN-Habitat ชี้ว่า มีชุมชนเมืองประมาณ 3,300 เมือง ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่เสี่ยงต่อปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล

สำหรับพื้นที่ชายฝั่งทะเลของประเทศไทย มีความยาวประมาณ 2,800 กิโลเมตร เป็นที่อยู่อาศัยของประชากรกว่า 12 ล้านคน โดยระยะ 600 กิโลเมตร หรือร้อยละ23 ของแนวชายฝั่งทะเล กำลังเผชิญกับปัญหาการกัดเซาะ คิดเป็นพื้นที่ที่สูญเสีย 113,000 ไร่ โดยจังหวัดที่มีอัตราการกัดเซาะรุนแรงเฉลี่ยมากกว่า 5 เมตรต่อปี โดยจัดเป็นพื้นที่วิกฤติ หรือพื้นที่เร่งด่วน 13 จังหวัด คือ จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส ระยะทางรวม 180 กิโลเมตร หรือประมาณ ร้อยละ11 ของแนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทย

ขณะที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนบน ตั้งแต่ปากแม่น้ำบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา จนถึงปากแม่น้ำท่าจีน จสมุทรสาคร เป็นพื้นที่มีการกัดเซาะขั้นรุนแรงมากที่สุด ในอัตรา 10-20 เมตรต่อปี ส่วนพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน มีการกัดเซาะรุนแรงในอัตรา 5 เมตรต่อปี ใน 5 จังหวัด คือ ระนอง ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ระยะทางรวม 23 กิโลเมตร หรือร้อยละ2 ของแนวชายฝั่งอันดามัน

นอกจากจะเผชิญกับวิกฤติปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งแล้ว พื้นที่ชายฝั่งทะเลของประเทศไทยยังเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยอันเนื่องมาจากระดับ น้ำทะเลที่อาจเพิ่มขึ้น จากรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) เมื่อปี 2007 พบว่า ชุมชนเมืองชายฝั่งทะเล มีความเสี่ยงต่อการเกิดการกัดเซาะ แนวชายฝั่งทะเลถอยล่น และถูกน้ำทะเลท่วม โดยพื้นที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา มีความเสี่ยงสูงได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่อาจเพิ่มสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยของโลก เนื่องจากมีการทรุดตัวของแผ่นดิน โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นเมืองใหญ่ 1 ใน 12 เมืองของโลก ที่มีประชากรอยู่อาศัย และเข้ามาประกอบอาชีพประมาณ 10 ล้านคน จะมีความเสี่ยงต่อภาวะน้ำทะเลท่วมมากขึ้น

สาเหตุสำคัญของปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลมาจากการกระทำของธรรมชาติ ทำให้เกิดคลื่นลม และพายุที่รุนแรง สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การกระทำของมนุษย์ ทั้ง การบุกรุกทำลายป่าชายเลน การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน การก่อสร้างโรงแรม รีสอร์ท ท่าเรือ และอาคารบ้านเรือน ล่วงล้ำลงไปในทะเล กีดขวางการไหลของกระแสน้ำ ตลอดจนสิ่งก่อสร้างที่ได้มีการสร้างขึ้น เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะ ชายฝั่งทะเลที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการและไม่สอดคล้องกับลักษณะทางกายภาพของพื้นที่

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เรามีการศึกษาวิเคราะห์เหตุการณ์จำลอง หรือ Scenarios ผลกระทบของระดับน้ำทะเลที่อาจเพิ่มขึ้นต่อสภาพการใช้ที่ดินชายฝั่งทะเลของประเทศไทยในเบื้องต้น พบว่า ในกรณีที่ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น 1 เมตร จะมีพื้นที่ชายฝั่งทะเลของ 25 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบ คิดเป็นประมาณ 3 ล้านไร่ มูลค่าความเสียหายประมาณ 3 ล้านล้านบาท จังหวัดที่มีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจมากที่สุด คือ กรุงเทพฯ รองลงมา คือ สมุทรปราการ นครศรีธรรมราช และสงขลา ตามลำดับ

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีมูลค่าความเสียหายของสินทรัพย์ (Assets) จากผลกระทบของระดับน้ำทะเลที่อาจเพิ่มขึ้นสูงเป็นอันดับที่ 6 ของโลก คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท โดยกรุงเทพฯ เป็นชุมชนเมืองใหญ่ที่มีมูลค่าความเสียหายสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก คิดเป็นเป็นมูลค่าประมาณ 95,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3 ล้านล้านบาท

นายสุวิทย์กล่าวอีกว่า ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการในการป้องกัน แก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล รวมทั้งการเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่อาจเพิ่มขึ้นจากภาวะโลกร้อน โดยการจัดทำยุทธศาสตร์การจัดการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล 20 ปี เสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาเห็นชอบ ภายในปี 2570 มีระบบฐานข้อมูลเพื่อการจัดการที่มีประสิทธิภาพ มีความชัดเจนในบทบาท หน้าที่ของหน่วยงานเกี่ยวข้อง รวมทั้งมีนโยบาย แนวทาง มาตรการในการดำเนินงานระดับพื้นที่ที่อยู่ในกรอบของแผนยุทธศาสตร์เดียวกัน

ตลอดจนเสริมสร้าง ถ่ายทอดและเผยแพร่องค์ความรู้ให้ สาธารณชน จัดทำยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2551-2555 เพื่อให้กระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นกรอบนโยบายในการแปลงยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ และปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และจัดทำแผนหลัก แผนปฏิบัติการ และศึกษาออกแบบรูปแบบการป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลในระดับ พื้นที่บริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันออก อ่าวไทยตอนบน และอ่าวไทยตอนล่าง

ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหานี้เป็นปัญหาระดับชาติ หรือ National Agenda เนื่องจากมีประชากร และชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลมากกว่า 12 ล้านคน และเป็นพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวทางด้านสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ของฐานทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์สำหรับการพัฒนา เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ

สาเหตุของปัญหาที่เกิดจากธรรมชาติมีความรุนแรง และหลากหลายกว่าในอดีต เนื่องจากมีการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลอย่างเข้มข้น และขาดการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ จึงส่งผลให้สาเหตุของปัญหามีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น แนวทางการบูรณาการนโยบายและการปฏิบัติ โดยใช้ยุทธศาสตร์การจัดการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง 20 ปี และยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเครื่องมือในการประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งแนวนอน และแนวดิ่ง ถือว่า การทำงานสำเร็จไปกว่าครึ่งแล้ว

การแปลงยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติในลักษณะของแผนปฏิบัติการนั้น ต้องมีแผนงาน โครงการ/กิจกรรม งบประมาณ พื้นที่เป้าหมาย และผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน แต่เนื่องจากการป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการดำเนินการโดยประชาชนในท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ จากส่วนกลาง มีทั้งใช้มาตรการเชิงวิศวกรรม และมาตรการแบบธรรมชาติ จึงต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการวิธีการป้องกันแก้ไขปัญหาทางวิชาการ ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ และความต้องการของชุมชนท้องถิ่นเป็นหลัก ไม่เป็นแบบ "ต่างคนต่างทำ" เหมือนในอดีตที่ผ่านมา

ในเรื่องของโลกร้อนนั้น เราได้ใช้ยุทธศาสตร์ว่าด้วยการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติมาได้ระยะหนึ่งแล้ว โดยในการเตรียมพร้อมรับมือภัยคุกคามจากระดับน้ำทะเลที่อาจเพิ่มขึ้นจากภาวะโลกร้อน จำเป็นต้องมีการทบทวนถึงความสำเร็จ ปัญหา อุปสรรคของการแปลงยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับของพื้นที่ด้วยเช่นกัน และที่สำคัญก็คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องให้ความสำคัญกับการบูรณาการในการอนุวัตการตามอนุสัญญาระหว่างประเทศร่วมด้วย

ทั้งในเชิงยุทธศาสตร์และการปฏิบัติในระดับพื้นที่ ช่วยลดความซ้ำซ้อนในการใช้จ่ายงบประมาณ ลดความสับสนในกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายร่วมกัน นอกจากนี้ จะเป็นการเสริมสร้างบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลกให้มีความชัดเจนขึ้น และจะส่งผลต่อการกำหนดท่าทีของประเทศไทยในเวทีการเจรจา รวมทั้งสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

นั้นเป็นนโยบายเแนวทางปฏิบัติที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหา แต่สิ่งที่เราต้องช่วยกันทำต่อไป คือ การนำทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าจากทุกภาคส่วนในสังคมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ในการแก้ไขปัญหาของชาติ ถ้าเราสามารถที่จะเชิญทรัพยากรทางปัญญาเหล่านี้มาช่วยงาน หรือมาเป็นภาคี ความร่วมมือได้ มั่นใจได้ ว่า ประเทศไทย ก็จะฟันฝ่าวิกฤติปัญหาไปได้

SCOOP@NAEWNA.COM

ไม่มีความคิดเห็น: