ขงจื๊อ (Kongzi) |  |
ขงจื่อ หรือ ขงจื๊อ (ปีที่ 551 - 479 ก่อนคริสต์ศักราช) มีชื่อตัวว่า ชิว และสมญานามว่า จ้งหนี เป็นคนแคว้นหลู่ เป็นนักคิดและนักการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ในสมัยปลายยุคชุนชิว และเป็นผู้ก่อตั้งสำนักปราชญ์ หรู่เจีย ซึ่งมีความหมายว่า บัณฑิตหรือผู้รู้
แนวคิดของขงจื๊อหรือหรู่เจียนั้น มุ่งไปที่การบ่มเพาะเมตตาธรรม ความชอบธรรม และจารีตประเพณี สำหรับคำสอนที่สำคัญของขงจื๊อล้วนถูกบันทึกไว้ใน "หลุนอวี่" โดยบรรดาศิษยานุศิษย์ของท่าน
ขงจื๊อเกิดที่แคว้นหลู่ ซึ่งเป็นที่ดินศักดินาของป๋อฉิน บุตรของโจวกงต้าน แห่งแคว้นโจว แคว้นหลู่ถือว่าเป็นเมืองที่เก็บรักษาคัมภีร์โบราณสมัยราชวงศ์โจวได้สมบูรณ์ที่สุด ถึงกับได้ชื่อว่าเป็น "เมืองแห่งจารีตและดนตรี" มาแต่โบราณแล้ว สถานการณ์ ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม และบรรยากาศทางการศึกษาของแคว้นหลู่ มีผลมากต่อการก่อรูปแนวคิดของขงจื๊อ
ขงจื๊อสูญเสียบิดาตั้งแต่ยังเด็ก สภาพแวดล้อมครอบครัวซึ่งเคยมีบรรพบุรุษเป็นขุนนางก็เสื่อมถอย แม้ว่าชีวิตจะลำบากยากเข็ญ แต่ขงจื่อตอนอายุ 15 ก็ตั้งปณิธานไว้ว่า จะต้องร่ำเรียนจนสำเร็จ
ขงจื๊อตั้งตนได้เมื่ออายุ 30 และเริ่มถ่ายทอดความรู้แก่ลูกศิษย์ แค่เอาเนื้อตากแห้งเพียงเล็กน้อยมาก็รับเป็นศิษย์แล้ว บ้างเล่าว่าท่านมีลูกศิษย์มากถึง 3,000 คน การสอนถ่ายทอดความรู้ของขงจื๊อ ได้พลิกโฉมการศึกษาในยุคสมัยนั้น โดยทำลายธรรมเนียมการเรียนการสอนที่จำกัดอยู่เพียงที่ราชสำนัก ทำให้ประชาชนทั่วไปตื่นตัวทางการศึกษาและวัฒนธรรมมากขึ้น ตามหลักฐานทางวิชาการอาจสรุปได้ว่า ขงจื๊อเป็นครูโรงเรียนราษฎร์คนแรกของจีน และไม่ต้องสงสัยเลยว่า ท่านเป็นครูที่ทรงอิทธิพลยิ่งใหญ่ต่อชาติจีน
ขงจื๊อบากบั่นเผยแพร่ความรู้อย่างไม่ท้อถอย แม้ชีวิตจะผจญอุปสรรคมาตลอดด้วยความยึดมั่นในอุดมการณ์ ท่านมุ่งสอนอบรมความเป็นคนที่สมบูรณ์ สร้างประโยชน์ต่อบ้านเมืองและสังคม และต้องระเหเร่ร่อนนานถึง 14 ปี ไปตามเมืองแว่นแคว้นต่างๆ ซึ่งเต็มไปด้วยความความสับสนวุ่นวายทั้งปัญหาการเมืองการห่ำหั่นแก่งแย่งอำนาจ สงครามไม่รู้จบ เพื่อเสนอแนวคิดการสร้างสังคมที่ดีงามยุติธรรมแก่บรรดาเจ้าครองนครรัฐต่างๆ แต่ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จ กระทั่งเคยถูกกักตัวปล่อยให้อดอยากทรมาน ดังเช่นกรณีที่ขงจื๊อและเหล่าศิษย์ถูกพวกนครไช่กักตัวไว้ ไม่ให้เดินทางไปช่วยราชการที่รัฐคู่อริแห่งฉู่ในราวปีที่ 489 ก่อนคริสต์ศักราช ในตอนนั้น จื่อลู่ ศิษย์ผู้หนึ่งถึงกับถามว่า "อุดมการณ์ของท่านอาจารย์สูงส่งเกินไป จึงเข้ากับคนอื่นไม่ได้ ท่านอาจารย์ควรลดอุดมการณ์ให้ต่ำลงมาสักหน่อย?" แต่ขงจื๊อผู้ล่วงสู่วัยชราแล้วในขณะนั้น ก็ตอบอย่างเด็ดเดี่ยวว่า
"...ผู้มีอุดมการณ์ที่แม้สามารถทำอุดมคติให้เป็นจริงได้ ก็อาจไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม เธอกำลังหวั่นไหวในการปลูกฝังคุณธรรม ทั้งกังวลว่าผู้อื่นไม่ยอมรับตนนั้น ไม่เป็นความคิดที่ต่ำไปหรือ?"
หลังจากกลับมาที่แคว้นหลู่เมื่ออายุ 69 ปี ชาวหลู่ยกย่องขงจื๊อให้เป็น "ขุนนางอาวุโสแห่งแคว้นหลู่"
เมื่อต้นสมัยหลู่ อายกงกับจี้คังจื่อ มักจะถามข้อราชการกับขงจื๊ออยู่บ่อยๆ แต่ท้ายที่สุดก็ไม่เคยได้นำมาใช้เลย พอถึงวัยชรา ขงจื๊อใช้เวลาทุ่มเทอยู่กับการจัดการประวัติศาสตร์และดำเนินการด้านการศึกษาต่อไป มาถึงสมัยหลู่อายกงปีที่ 16 (ปีที 479 ก่อนคริสต์ศักราช) ขงจื๊อก็ถึงแก่กรรม ร่างถูกฝังไว้ที่ซื่อสุ่ย ทางเหนือของเมืองหลู่ซึ่งปัจจุบันอยู่ในมณฑลซานตง อีกทั้งยังได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมของจีน และทุกปีจะมีการจัดกิจกรรมรำลึกขงจื๊อ ที่ปัจจุบันกลายเป็นกิจกรรมยิ่งใหญ่ระดับนานาชาติ หลังจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ยอมรับให้เป็นหนึ่งในเทศกาลสำคัญของชาติ ในปี ค.ศ.1989
คำสอนของขงจื๊อเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและงดงามอย่างยิ่ง ความคิดของท่านได้กลายเป็นแกนสำคัญในวัฒนธรรมความคิดที่สืบทอดต่อๆ กันมาของชนชาติจีน
|
ที่มาข้อมูล : www.manager.co.th
|  | | |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น